คอลัมน์ KTAM Focus : อย่ามาพูดจาต่ำๆ กว่านี้กับผม!

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย

2 สัปดาห์เศษๆเข้าสู่ปี 2020 ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วที่พุ่งขึ้นแรงสุด …ไม่ใช่สหรัฐฯ… แต่กลับอยู่ในทวีปซึ่งเผชิญวิกฤตไฟป่ารุนแรงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ก.ย. โดยดัชนี S&P/ASX 200 ของออสเตรเลีย +5.7% นับจากต้นปีถึงวันศุกร์ พุ่งทะลุ 7,000 จุดเป็นครั้งแรก ราคาปิดทำจุดสูงสุดใหม่ 4 วันติด ได้ปัจจัยหนุนจากการเซ็นข้อตกลงการค้า สหรัฐฯ-จีน เฟส 1 ตลอดจนการกำหนดดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ 0.75% ของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ซึ่งส่งสัญญาณว่าจะลดอีก และอาจตามมาด้วยมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) ดังที่ผมเคยเขียนไว้ใน “QE จิงโจ้” (1 ธ.ค. 2019)

จุดสูงสุดประวัติการณ์ (historic high, record high or all-time high) กำลังกลายเป็นเป้าหมายใหม่ ของดัชนีหุ้นในหลากประเทศหลายภูมิภาคทั่วโลกปีนี้ บางตลาดทะลุไฮเดิมไปแล้ว นักวิเคราะห์ก็เริ่มแข่งขันกันขยับปรับเพิ่มเป้าดัชนีให้เป็นที่ฮือฮา ส่วนอีกหลายๆตลาดยังไปไม่ถึงจุดสูงสุดที่เคยทำไว้ในอดีต ก็คงอยากจะวิ่งทะลุขีดจำกัดดังกล่าวเช่นกัน

“เรื่องต่ำๆ” ผมไม่ได้มีหน้าที่ตั้งเป้าดัชนีแต่อย่างใด (เนื้อหาในบทความนี้คือความเห็นส่วนตัว) ทว่าอยากชวนคิดต่อเนื่องจากที่เคยนำเสนอไว้เมื่อ 22 ธ.ค. 2019 “จุดต่ำสุดของหุ้นไทย” ซึ่งเคยชี้ว่าราคาปิด 1,548.65 วันที่ 17 ธ.ค. น่าจะเป็นจุดต่ำสุดในการปรับฐานของ SET Index และหุ้นไทยควรกลับมาเป็นขาขึ้นสักที …ดัชนีบวกกว่า 50 จุดจากระดับต่ำสุดดังกล่าว จนขึ้นมาปิดเหนือ 1,600 เป็นครั้งแรกใน 7 สัปดาห์… ครั้งนี้ผมไม่พูด “เรื่องต่ำๆ” แต่จะขอ #มองบน

ราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (Price to book, P/B) ของ SET Index นับตั้งแต่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากภาวะถดถอยครั้งใหญ่ (Great Recession) เป็นต้นมา ผ่านจุดต่ำสุด 1.587x ในเดือน ต.ค. 2011 ช่วงน้ำท่วมไทย และสูงสุด 2.587x มี.ค. 2013 ในยุค QE เฟื่องฟูก่อน Taper Tantrum โดยตลอดระยะเวลา 9 ปีล่าสุด (2011-2019) P/B ของหุ้นไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2x

SET Index #มองบน2020 หุ้นไทยปีนี้มีโอกาสดีไม่น้อย อาจจะสร้างเซอร์ไพรส์ ขึ้นไปได้ไกลกว่าที่ใครๆคาดคิด จากราคาปิดวันศุกร์แถว 1,600 คิดเป็น P/B ราว 1.72x หากลอง “เปิดใจ” ใช้บัญญัติไตรยางศ์คำนวณระดับดัชนี ณ P/B ค่าต่างๆได้ดังนี้

P/B 2.00x ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย คำนวณได้ SET Index ประมาณ = 1,600 x 2.00 / 1.72 = 1,860

P/B 2.58x ใกล้จุดสูงสุดในปี 2013 จะได้ SET Index ประมาณ = 1,600 x 2.58 / 1.72 = 2,400

กล้าๆหวังว่า SET จะแตะ 2,020 เท่าตัวเลขปี ค.ศ. นี้จะได้ P/B = 1.72 x 2,020 / 1,600 = 2.17x ยังต่ำกว่าจุดสูงสุดปี 2014

ทำไมจะเป็นไปไม่ได้!

ปัจจัยกระตุ้น หนุนราคาสินทรัพย์ให้ขยับสูงขึ้นคือ เฟดลดดอกเบี้ยนโยบาย ฉีดสภาพคล่องให้ตลาด repo ช่วยกดดอกเบี้ยระยะสั้น (อ่าน “QE แอบ” 13 ต.ค. 2019) และส่งสัญญาณพร้อมที่จะซื้อตราสารอายุยาวในอนาคต ยีลด์พันธบัตรระยะยาวจึงปรับตัวขึ้นได้ยาก แม้ความคาดหวังเงินเฟ้อเริ่มฟื้น ส่งผลให้ “อัตราคิดลด” (discount rate) ต่ำลงในมุมมองของนักลงทุน มูลค่าเหมาะสมของสินทรัพย์เช่น อสังหาฯ หุ้น ฯลฯ ซึ่งคำนวณด้วยวิธี Discounted Cash Flow (DCF) จึงสูงขึ้นกว่าในอดีต นอกจากนี้ นโยบายเศรษฐกิจของไทย ทั้งด้านการเงินและการคลัง มีแนวโน้มไปในทางผ่อนคลาย และหันมามุ่งสนับสนุนการเติบโตมากขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เห็นได้จาก ธปท. ส่งสัญญาณพร้อมที่จะลดดอกเบี้ยง่ายกว่าเดิม ผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ตลอดจนภาคธนาคาร รัฐบาลทยอยออกมาตรการกระตุ้น ขณะงบประมาณที่ล่าช้ามาหลายเดือน สุดท้ายก็ผ่านสภาฯ และจะเร่งเบิกจ่ายต่อไป ทั้งหลายทั้งปวงนี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนในตลาด นักเศรษฐศาสตร์เริ่มมองกันว่า เศรษฐกิจไทยใกล้พ้นจุดต่ำสุดและมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น จากนี้นักวิเคราะห์ก็น่าจะทยอยปรับเพิ่มประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน ช่วยสนับสนุนให้ “กระทิงหุ้นไทย” ทะยานต่อไปด้วยปัจจัยพื้นฐานกันยาวๆ

กองทุนเปิดกรุงไทย ก่อการดี (KT-ESG) เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนหุ้นไทย โดยเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในสัดส่วนที่เท่าหรือใกล้เคียงกับ Thaipat ESG Index นอกจากนี้ KTAM ยังมีหลากหลายกองทุนหุ้นไทยให้เลือก อาทิ KTEF, KTSE บริหารเชิงรุกมุ่งเติบโตแบบเต็มๆ KTSF, KT-HiDiv เน้นปันผล KTBTHAICG หุ้นธรรมาภิบาล KTMSEQ, KT-mai เน้นหุ้นขนาดกลาง-เล็ก หรือ KT-SET50 ลงทุนเชิงรับตามดัชนี เป็นต้น

ดัชนีปีนี้เท่าไหร่? ใครรู้อนาคตได้? แต่หวังไว้ในใจชี้ขึ้นไป 2020 ชื่อเรื่องก็บอกอยู่แล้วว่า “อย่ามาพูดจาต่ำๆกว่านี้กับผม!”

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน