SCB กำไรแค่ 4 หมื่นล้าน ตั้งสำรองเพิ่มปี’62 – KKP ไตรมาส 4 แรงตามคาด 17%

HoonSmart.com>>ธนาคารไทยพาณิชย์พร้อมรับมือเศรษฐกิจผันผวน ปี 62 ทุ่มตั้งสำรอง 36,211ล้านบาท แจกปันผลพิเศษแค่ 0.75 บาท ” อาทิตย์ ” เผยเพิ่มความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ เน้นปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพ-ให้ผลตอบแทนสูง บริหารต้นทุน ร่วมพันธมิตรพัฒนาธุรกิจ บล.กสิกรไทยผิดหวัง SCB กำไรไตรมาส 4 แค่ 5.5 พันล้านบาท ต่ำเป้า แจง NPLs เพิ่มขึ้น ส่วนธนาคาร   เกียรตินาคิน โชว์กำไรเฉียด 6 พันล้านบาท ปี 62 เฉพาะไตรมาส 4 โกย 1,680 ล้านบาท ดีตามคาด 

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) รายงานผลงานปี 2562 มีกำไรสุทธิ 40,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 369 ล้านบาท หรือ 0.92% เทียบกับกำไรสุทธิ 40,067ล้านบาท ในปี 2561  เฉพาะไตรมาส 4 มีกำไรสุทธิ 5,506 ล้านบาท ลดลง 1,578 ล้านบาท หรือ 22.27% เทียบกับกำไรสุทธิจำนวน 7,084 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2561

ปี 2562 ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรอง จำนวน 95,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากกำไรพิเศษ จากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต ทั้งนี้มีการตั้งสำรองพิเศษ ทำให้มีกำไรสุทธิ จำนวน 40,436 ล้านบาท นอกจากนี้ ธนาคารประกาศเงินปันผลพิเศษ ในอัตรา 0.75 บาทต่อหุ้น โดยมีกำหนดจ่ายในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้

สาเหตุที่กำไรจากการดำเนินงานเติบโต เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโต 3% เป็น 99,402 ล้านบาท สวนทางอัตราดอกเบี้ยในปี 2562 อยู่ในขาลง และยอดสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนธ.ค. 2562 ลดลงเล็กน้อย ธนาคารยังคงสามารถขยายฐานรายได้จากการปรับพอร์ตสินเชื่อด้วยการเพิ่มสัดส่วนของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง

รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 59% เป็นจำนวน 66,696 ล้านบาท หลัก ๆ มาจากกำไรของเงินลงทุนที่เกิดจากการขายหุ้น บริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต ในช่วงปลายเดือนก.ย.ที่ผ่านมา หากไม่รวมกำไรพิเศษดังกล่าว รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโต 2% จากปีก่อน โดยรายได้ประเภท recurring ดีขึ้น และในไตรมาสที่ 4  ธนาคารมีการรับรู้รายได้ใหม่จากความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรด้านประกันชีวิต

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 9% เป็น 70,538 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายครั้งเดียว ในการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงาน ตามกฎหมายแรงงานใหม่ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับโครงการ Transformation ทั้งนี้รายได้รวมที่เติบโต 20%  ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ลดลงมาเป็น 42.5%ในปี 2562

อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 3.41% ณ สิ้นเดือนธ.ค.2562 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 3% ในครึ่งแรกของปี สะท้อนถึงความท้าทายของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอันเกิดจากความผันผวนของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังและการที่ธนาคารใช้นโยบายระมัดระวังในการจัดชั้นลูกหนี้ จึงตั้งสำรองจำนวน 36,211 ล้านบาท ในปี 2562 และอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนธ.ค. 2562 อยู่ที่ 134%

เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคาร ณ สิ้นปี 2562 อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.1% ดังนั้น ภายหลังการขายหุ้นของธนาคารในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว คณะกรรมการธนาคารได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลพิเศษแก่ผู้ถือหุ้นในอัตรา 0.75 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ เงินปันผลปกติจากการดำเนินงานประจำปี 2562 จะได้รับการพิจารณาและอนุมัติในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ในเดือนเม.ย. 2563

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ความผันผวนของเศรษฐกิจ ธนาคารได้ใช้หลักความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการเติบโตของสินเชื่อ ที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพ จากการคาดการณ์ว่า สินเชื่อทั้งระบบจะเติบโตในระดับปานกลาง

ธนาคารยังคงให้ความสำคัญต่อการปรับพอร์ตสินเชื่อ ไปสู่ธุรกิจที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง การปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล และธุรกิจการบริหารจัดการความมั่งคั่ง พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ ความสำเร็จในการพัฒนาขีดความสามารถใหม่ ๆ ผ่านโครงการ Transformation ธนาคารกำลังนำขีดความสามารถมาใช้ในเชิงรุกยิ่งขึ้น และทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจและฟินเทคชั้นนำในการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว”

ด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานกำไรไตรมาส 4/2562 ที่ 5,500 ล้านบาท ลดลง 22%จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำกว่าเราและตลาดคาดสูงกว่า 36% และ 45% จากการตั้งสำรอง และ NII ในขณะที่ NPL เพิ่มขึ้นในทุก Segment จาก 3.59% เป็น 4.0% , Credit cost ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1.80% จาก 1.15% ในไตรมาส 3 , NIM ปรับลด 0.48% เป็น 3.2% , ต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็น 52.8% จาก 48.2% และจ่ายเงินปันผล 0.75 บาท (XD วันที่ 30 ม.ค.) ราคาหุ้น SCB ปิดที่ 117 บาท ณ.วันที่ 17 ม.ค.2563

ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) แจ้งว่า ในปี 2562 มีกำไรสุทธิ 5,988 ล้านบาท ลดลง 53 ล้านบาท หรือ 0.87% เทียบกับกำไรสุทธิ 6,041.98 ล้านบาท แต่ไตรมาส 4/2562 มีกำไรสุทธิ 1,680 ล้านบาท ดีขึ้น 254 ล้านบาท หรือ ประมาณ 17.81%จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,426 ล้านบาท

KKP มีกำไรเบ็ดเสร็จรวมผลจากการวัดมูลค่าหลักทรัพย์เผื่อขายเป็นผลจากกความผันผวนของตลาดทุนเท่ากับ 5,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.8% จาก 5,123 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการดำเนินงานทำได้ 19,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% โดยหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 9.4% เป็น 18,036 ล้านบาท ตามการเติบโตของสินเชื่อ 4.2% จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อยเกือบทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.2% ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น หลักๆมาจากส่วนขาดทุนจากการทรัพย์สินรอการขายอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม อยู่ที่ 4% ลดลงจากสิ้นปีก่อนที่ 4.1% ทางด้านตลาดทุน บล.ภัทรมีส่วนแบ่งตลาด 9.61% ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด 39 แห่ง เพิ่มขึ้นจาก 4.55% ในปี 2561

อ่านข่าว

หุ้น SCB ร่วง 12% ผิดหวังกำไรตั้งสำรองหนี้พุ่ง โบรกฯ แห่หั่นเป้า