KTAM ปั๊ม AUM ปี 63 โตแสนลบ. รุกออกกองตปท.-SET เป้า 1,700

HoonSmart.com>> บลจ.กรุงไทย เปิดแผนงานปี 63 ตั้งเป้าขยายสินทรัพย์โต 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% รุกออกกองทุนต่างประเทศเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน มอง “ตลาดเกิดใหม่” น่าสนใจ ส่วนหุ้นไทยมองเป้าปีนี้ 1,700 จุด ดัชนีผันผวนต่อเนื่อง แนะจัดพอร์ตกระจายลงทุน เน้นหุ้นรับผลดีดอกเบี้ยต่ำ-สงครามการค้าผ่อนคลาย-ย้ายฐานผลิต หุ้นแนวโน้มกำไรดีขึ้น


นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในปี 2563 บริษัทฯ ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) เพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 12% จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 8.27 แสนล้านบาท ในขณะที่ปีที่ผ่านมานั้นยังมีผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่องมูลค่าสินทรัพย์เติบโต 6.6% และมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นลำดับที่ 4 ของอุตสาหกรรม

บริษัทฯ มุ่งเน้นกลยุทธ์ใน 3 ส่วน ได้แก่ 1.ให้ความสำคัญในการกระจายพอร์ตการลงทุนและการบริหารจัดการกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ ที่บริษัทฯ มองว่ายังเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจ มองเห็นโอกาสในการเติบโตไปในเชิงบวก

“ปี 2562 ที่ผ่านมาพบว่ากว่า 97% ของกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศของบริษัทฯ มีการเติบโตเกือบทั้งหมด และส่วนใหญ่เติบโตระดับ 2 หลัก และในปีนี้บริษัทฯ จะยังคงเดินหน้ารุกผลิตภัณฑ์กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งได้มีการคัดเลือกมาอย่างดีและกระจายไปหลาย Asset Class เพื่อรองรับการกระจายการลงทุนให้แก่ลูกค้า”นางชวินดากล่าว

บริษัทฯ จะร่วมมือธนาคารกรุงไทย (KTB) โดยเฉพาะด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อบริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งร่วมมือตัวแทนสนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ซึ่งปีที่ผ่านมาธุรกรรมกองทุนของบริษัทฯ ผ่านแอพพลิเคชั่น Next ของธนาคารกรุงไทยมียอดซื้อกว่า 14,000 ล้านบาท และผ่านแอพพลิเคชั่น KTAM Smart Trade มียอดซื้อกว่า 8,000 ล้านบาท โดยเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีให้ดียิ่งขึ้นตอบโจทย์ในความรวดเร็ว ง่ายและสะดวกสบายแก่ผู้ลงทุนทุกกลุ่มเป้าหมาย

นอกจากนี้จะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อต่อยอดการให้บริการให้เป็น Best Investment Solutions เพื่อตอบโจทย์นักลงทุนในยุคดิจิทัลที่ต้องการความง่าย และสะดวกสบาย เพิ่มความสะดวกแก่นักลงทุนผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีให้ดีมากยิ่งขึ้น รองรับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของลูกค้า และเทรนด์ของนักลงทุนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งในปีที่ผ่านมา KTAM เปิดตัว LINE@ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหาความรู้ บทความและเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการลงทุน ตอบสนองในการเป็นเพื่อนคู่คิด ที่ปรึกษา และมีนักลงทุนที่สนใจเป็นผู้ติดตามมากถึง 235,625 ราย รวมถึง Facebook ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 180,000 ราย และสำหรับในปีนี้ KTAM จะมุ่งเน้นการนำเสนอคอนเทนท์ที่ง่ายและเข้าถึงผู้ลงทุนทั่วไปมากยิ่งขึ้น เพื่อให้คนเห็นความสำคัญของการออมผ่านกองทุนต่าง ๆ

นางชวินดา กล่าวว่า ในไตรมาสแรกปีนี้บริษัทมีแผนเปิดจำหน่ายกองทุนควบประกันสุขภาพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และมีแผนจำหน่ายกองทุนอื่นๆ เพิ่มเติม ส่วนกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) คาดว่าจะออกได้ในช่วงกลางปีนี้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบ

“ปีที่ผ่านมาบริษัทออกกองทุนเปิดกรุงไทย มั่ง มี ศรี สุข ซึ่งมีการจัดพอร์ตกระจายการลงทุน ลงทุนในหุ้นตามสัดส่วนตั้งแต่ 80%, 50%, 25% และ 15% ตามลำดับ ซึ่งทำผลตอบแทนต่ำสุดประมาณ 5% ซึ่งปีนี้การลงทุนในต่างประเทศยังมีโอกาส จึงเชื่อว่ากองทุนนี้จะเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนได้”นางชวินดา กล่าว

นายวีระ วุฒิคงศิริกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การลงทุน บลจ.กรุงไทย กล่าวว่า บริษัทยังคงแนะนำให้ผู้ลงทุนกระจายความเสี่ยงไปในหลายสินทรัพย์และหลายภูมิภาค เนื่องจากตลาดการเงินมีความผันผวนมากขึ้น ดังนั้นการจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

“ในช่วงต้นปียังมองสินทรัพย์เสี่ยงน่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังนักลงทุนคลายความกังวลการเกิดภาวะถดถอย จึงเน้นให้ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยอาจเน้นการลงทุนมาในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) ที่น่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดกว่า และราคาไม่ได้แพงมาก รวมถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ในระยะถัดไป นักลงทุนอาจต้องระวังแรงขายทำกำไร และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจพัฒนากลายเป็นปัจจัยกดดันการลงทุนในอนาคต”นายวีระ กล่าว

สำหรับแนวโน้มดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในปีนี้ บริษัทประเมินกรอบดัชนีฯ ไว้ที่ 1,700 จุด โดยคาดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะขยายตัวราว 6% และมีสัดส่วน P/E อยู่ที่ประมาณ 18 เท่าใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งแม้ว่าจะสูงกว่าในอดีตแต่ก็เป็นตามภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำ โดยภาวะการลงทุนยังคงเผชิญกับความผันผวนต่อเนื่อง โดยตลาดฯ ได้รับปัจจัยบวกจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีการฟื้นตัว การลงทุนภาครัฐและการเบิกจ่ายงบประมาณใหม่ ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่น่าจะดีขึ้น และสภาพคล่องที่ยังอยู่ในระดับสูง

ปัจจัยที่ต้องติดตามได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่อาจปะทุขึ้นใหม่ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ พัฒนาการของ Brexit ท่าทีของธนาคารกลางต่างๆ ความอ่อนแอของเศรษฐกิจในประเทศ แรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบต่างๆ ของภาครัฐ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบัญชี เป็นต้น

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในตราสารทุนในประเทศสำหรับปี 2563 บริษัทเน้นลงทุนในหุ้นที่ได้รับผลดีจากแนวโน้มดอกเบี้ยต่ำ, หุ้นที่ได้รับผลดี การคลายความวิตกต่อ “สงครามการค้า”, หุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานและปรับตัวลงมาแรง, หุ้นที่ได้รับผลดีจากการย้ายฐานการผลิต เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หรือหุ้นที่คาดผลประกอบการดีขึ้นในปีนี้

นายสมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย กล่าวว่า ภาพรวมปีนี้สัญญาณโลกน่าจะดีขึ้น ซึ่งสหรัฐฯ และจีนเซ็นสัญญาทางการค้าในเฟสแรกแล้วและไม่มีการขึ้นภาษี จึงมองครึ่งปีแรกสถานการณ์น่าจะผ่อนคลายและเริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มดีขึ้น ซึ่งไทยก็น่าจะได้รับอานิสงส์ รวมถึงงบประมาณประจำปี 2563 ที่ผ่านสภาฯ ก็น่าจะเป็นอีกปัจจัยที่เข้ามาช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

บริษัทประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 2.8% ดีขึ้นกว่าในปีก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.4% โดยแรงขับเคลื่อนหลักๆ มาจากงบประมาณปี 2563 ที่ผ่านสภาฯ นโยบายการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและโครงการในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาวะดอกเบี้ยต่ำยังถือเป็นปัจจัยบวกสำคัญ

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความท้าทายในหลายๆ ด้าน ทั้งปัจจัยระยะยาวอย่างปัญหาประชากรสูงวัย และการเข้ามามีบทบาทสำคัญของเทคโนโลยี (Technology Disruption) และปัจจัยระยะสั้น ได้แก่ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ความเสี่ยงของการขยายตัวเศรษฐกิจโลก และปัญหาปริมาณน้ำในเขื่อนต่ำ ทำให้คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจมีลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีน่าจะอยู่ที่ 1.00%