ก.ล.ต.กล่าวโทษอดีตกก.-ผู้บริหาร IFEC พร้อมพวกรวม 4 รายทุจริตแสวงหาประโยชน์เข้าตัว

HoonSmart.com>> ก.ล.ต.กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร “อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น” กับพวก รวม 4 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีกระทำทุจริตต่อหน้าที่ แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จากกรณี IFEC ซื้อที่ดินและอาคารสำนักงาน 7 ชั้น จนเป็นเหตุให้ IFEC ได้รับความเสียหาย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหารบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) กับพวก รวม 4 ราย ได้แก่ (1) นายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ ขณะเกิดเหตุ เป็นรองประธานกรรมการ รองประธานกรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการของ IFEC (2) นายฐนวัฒน์ จันทร์สุวรรณ ขณะเกิดเหตุ เป็นกรรมการบริหาร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป และเลขานุการของ IFEC (3) นางสมศรี ชูกิจสมบูรณ์ และ (4) นายอภิชาติ วัฒนภูษิตสกุณ กรณีร่วมกันกระทำทุจริตต่อหน้าที่เป็นเหตุให้ IFEC ได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ บุคคลทั้ง 4 รายได้ร่วมกันทำให้ IFEC เข้าซื้อที่ดินและอาคารสำนักงาน 7 ชั้น เพื่อใช้เป็นสำนักงานแห่งใหม่ในราคา 60 ล้านบาท จากนางสมศรี อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบพบข้อเท็จจริงทำให้เชื่อได้ว่า มีการจ่ายค่าซื้อที่ดินและอาคารสำนักงานที่แท้จริงเพียง 40 ล้านบาท โดยเงินจำนวน 20 ล้านบาท ได้ถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของนายสิทธิชัยและนายอภิชาติ พฤติกรรมดังกล่าวจึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น

การกระทำของอดีตกรรมการและผู้บริหาร IFEC และพวกรวม 4 รายข้างต้น เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 307 มาตรา 311 มาตรา 313 และมาตรา 315 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 4 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้น ต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน และการสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ