DTAC ปี 62 พลิกกำไรโต 69% ปันผล 1.61 บาท XD 11 ก.พ.นี้

HoonSmart.com>> “โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น” ปี 62 พลิกกำไรสุทธิ 5,421 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุน เหตุต้นทุนค่าธรรมเนียมลดลง ค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ภายใต้สัมปทานที่สิ้นสุดลงแล้ว อนุมัติจ่ายปันผล 1.61 บาทต่อหุ้น XD 11 ก.พ.63 พร้อมคาดปี 63 รายได้ค่าบริการไม่รวมค่า IC โตเลขหลักเดียวระดับต่ำ EBITDA โตหลักเดียวระดับกลาง งบลงทุน 1.3-1.5 หมื่นล้านบาท ด้านบล.หยวนต้า แนะ ซื้อ สวนทาง “บล.เคทีบี” แนะเพียงถือ คาดปี 63 กำไรปกติติดลบ ด้านบล.เคจีไอ จ่อปรับเป้าใหม่หลังกำไรปกติต่ำกว่าคาด

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) แจ้งผลการดำเนินงานปี 2562 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2562 กำไรสุทธิ 5,421.89 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 2.29 บาท เพิ่มขึ้น 69.4% จากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 4,368.69 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 1.85 บาท

ดีแทคมีรายได้รวมในปี 2562 เท่ากับ 82,146 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.1% จากปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานหลัก และค่าเช่าเครือข่าย 2300MHz จาก TOT โดยรายได้จากการให้บริการที่ ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายลดลง 1.6% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 62,109 ล้านบาท

คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติเมื่อวันที่ 28 ม.ค.2563 อนุมัติการจ่ายเงินปันผลจากกำไรสะสมให้แก่ผู้ถือหุ้นอัตรา 1.61 บาท รวมเป็นเงิน 3,812.17 ล้านบาท กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) วันที่ 12 ก.พ. 2563 และวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) 11 ก.พ. 2563 กำหนดจ่ายเงินปันผล 24 เม.ย.2563

นายดิลิป ปาล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน DTAC กล่าวว่า ดีแทคมีผลประกอบการทางการเงินที่แข็งแกร่งโดยมีรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าไอซีในไตรมาส 4/2562 ที่โตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลอดจนการเติบโตของรายได้จากการให้บริการหลัก (รายได้จากการให้บริการเสียงและข้อมูล) ในปี 2562 และด้วยต้นทุนค่าธรรมเนียมที่ลดลง ค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ภายใต้สัมปทานที่สิ้นสุดลงแล้ว พร้อมทั้งการควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพที่เกี่ยวข้องกับการขายและการบริหาร (SG&A) และการบริการ ทำให้ดีแทคมีกำไรสุทธิที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้เมื่อเทียบกับปีก่อน

สำหรับปี 2563 ดีแทคตั้งเป้าการเติบโตสำหรับรายได้จากค่าบริการไม่รวมค่าไอซีในอัตราร้อยละที่เป็นตัวเลขหลักเดียวในระดับต่ำ (low single-digit) ขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้ตัดจำหน่ายหรือ EBITDA คาดการณ์การเติบโตในอัตราร้อยละที่เป็นตัวเลขหลักเดียวในระดับกลาง (mid single-digit) ส่วนเงินลงทุน หรือ CAPEX ประมาณการณ์ไว้ที่ 13,000 – 15,000 ล้านบาท

ตัวเลขสำคัญทางการเงินในปี 2562 (ก่อนการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 15 และ 16 มาถือปฏิบัติ และไม่รวมผลกระทบจากการทำสัญญาระงับข้อพิพาทกับ กสท ในปี 2561)

นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC กล่าวว่า ปี 2562 ดีแทคเดินหน้าพัฒนาคุณภาพสัญญาณและขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถขยายสถานีฐานสำหรับรองรับคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ของทีโอที ได้ถึง 4,700 สถานี ทำให้ปัจจุบันสถานีฐานสำหรับรองรับคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ มีจำนวนถึง 17,400 สถานีทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2562 ดีแทคมีฐานลูกค้าจำนวนทั้งสิ้น 20.6 ล้านราย ลดลง 560,000 ราย มีรายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมค่าไอซี) ในไตรมาส 4/62 เติบโตร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายได้จากค่าบริการหลักในปี 2562 เติบโตร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นผลมาจากพัฒนาการจำนวนลูกค้าที่ดีขึ้นในระบบเติมเงิน โดยมีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/62 ขณะที่จำนวนลูกค้าในระบบรายเดือนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กำไรสุทธิสำหรับปี 2562 มีมูลค่าทั้งสิ้น 5.9 พันล้านบาท เติบโตร้อยละ 69.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของต้นทุนค่าธรรมเนียมและค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ภายใต้สัมปทานที่สิ้นสุดลงแล้ว

บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) แนะนำ ซื้อ DTAC แม้กำไรปกติไตรมาส 4/2562 ต่ำคาด แต่รายได้โตและปันผลสูงกว่าคาด โดยปรับราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2563 เป็น 61.00 บาทต่อหุ้น จากการรวมสมมติฐานเข้าประมูลคลื่น 1.5 หมื่นล้านบาท หาก DTAC ไม่เข้าประมูล ราคาเหมาะสมจะปรับลดเป็น 55.00 บาทต่อหุ้น จากรายได้ที่ไม่เติบโต ส่งผลลบกว่าต้นทุนคลื่นที่เพิ่มขึ้น

บล.เคทีบี คงมุมมองแนวโน้มปี 2563 กำไรมีโอกาสเติบโตติดลบ กำไรปกติปี 2562 ของบริษัทอยู่ที่ราว 6.3 พันล้านบาท +171% จากปีก่อน (pre TFRS16, ใกล้เคียงกับที่เราประเมิน) ขณะที่รายได้จากการให้บริการหลักทำได้เพียงทรงตัว YoY และ cost structure (ไม่รวมส่วนที่เกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทาน) ยังคงอยู่ในภาวะขาขึ้นจากการขยายโครงข่ายรวมถึงรับมือการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นต่อเนื่องในปี 2020E ทำให้เรายังคงให้น้ำหนักค่าใช้จ่ายยังเติบโตได้เร็วกว่ารายได้ ส่งผลให้กำไรในปี 2563 คาดจะเติบโตติดลบ คงประมาณการเดิมกำไรปกติปีที่ 5.7 พันล้านบาท -3% จากปีก่อน แนะนำเพียง ถือ ราคาเป้าหมาย 52 บาท

บล.เคจีไอ อยู่ระหว่างปรับประมาณการคำแนะนำและกำไรปี 2563-2564 หลังจากกำไรหลักในปี 2562 อยู่ที่ 6.0 พันล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการของเรา 6% และยังมี downside จากการประมูลคลื่น 5G (700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26GHz) ในเดือนหน้าอีก