12 โบรกฯ แห่เชียร์ “ซื้อ” BBL บล.หยวนต้า อัพเป้า 202 บาท

HoonSmart.com>> นักวิเคราะห์ 12 แห่งจาก 13 บริษัทหลักทรัพย์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น BBL หลังเข้าพบผู้บริหารมีมุมมองเป็นบวก “บล.หยวนต้า” ให้เป้าหมายราคาสูงสุด 202 บาท หลังอัพเป้าใหม่ ส่วนบล.ทรีนีตี้ให้ราคาต่ำสุด 173 บาท ด้าน KGI รายเดียวแนะนำ “ถือ” หั่นราคาจาก 198 บาท เหลือ 176 บาท

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) พบนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่นักวิเคราะห์มีมุมมองในทางบวกและมีการปรับเป้าหมายราคาใหม่ ขณะเดียวกันบางบริษัทก็ปรับลดราคาเป้าหมายลง

บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ มอง BBL มีแนวโน้มดีกว่าที่คาดเลือกเป็นหุ้นแนะนำใหม่ สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ BBL คือ ธนาคารคาดค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองที่ 1.2 – 1.5 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าที่เราคาดไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงจากในปี 2562 ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท และการตั้งสำรองเป็นปัจจัยที่ประมาณการของบล.ทิสโก้ต่างจากที่ตลาดคาด และบล.ทิสโก้ คาดว่าจะมีการปรับประมาณการขึ้น

ส่วนการลดดอกเบี้ยทั้ง MOR และ MRR ส่งผลกระทบต่อสินเชื่อ SME และรายย่อยราว 12.5 bps และ 25bps ตามลำดับเป็น 6.75% และ 6.625% ด้วยการที่ BBL ไม่ได้ปรับลด MLR ทำให้ผลกระทบต่อสินเชื่อรวมมีจำกัด และเราเชื่อว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลงในอนาคตเช่นกัน

“เราปรับลด Credit Cost ลง 20bps เพื่อสะท้อนประมาณการในอนาคต เราปรับลดการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมลงจาก 5% เป็น 0% และปรับลดผลตอบแทนของสินเชื่อลงเล็กน้อย แม้ว่าเราจะปรับ MOR/MRR ลง แต่เราปรับ NIM ลงเพียง 1bps ทำให้โดยรวมแล้วผลประกอบการจะเพิ่มขึ้น 5.5% และทำให้มูลค่าที่เหมาะสมเพิ่มขึ้น 14 บาท เป็น 210 บาท”บล.ทิสโก้ ระบุ

พร้อมแนะนำ “ซื้อ” หุ้นและเลือกเป็นหุ้นแนะนำ โดยมองว่า แผนการตั้งสำรองที่ต่ำแสดงถึงความมั่นใจในการดำเนินงานของ BBL และมีโอกาสที่จะมีอัพไซด์เพิ่มขึ้นในอนาคต และหากรวมการดำเนินงานของ Permata เข้ามาจะทำให้ผลประกอบการเพิ่มขึ้นราว 5 – 10%

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มีมุมมองบวกจากการประชุมครั้งนี้ พร้อมกับปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิของ BBL ตั้งแต่ปี 2563 ขึ้น เฉลี่ยปีละ 5.3% เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการตั้งสำรองที่ผ่อนคลายลงมาก หลังจาก BBL มีการเร่งตั้งสำรองในข่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่มีการปรับลดรายได้ดอกเบี้ยรับที่คาดได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง รวมทั้งปรับลดประมาณรายได้ค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมกับการปรับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่มากขึ้น ทำให้ทั้งปี 2563 คาด BBL จะมีกำไรสุทธิ 39,196 ล้านบาท โต 9.4% จากปีก่อน

“เรามีมุมมองบวกต่อผลดำเนินงานของ BBL โดยคาดจะเป็นแบงค์ใหญ่ที่มีกำไรโตเด่นสุด หลังปรับนโยบายตั้งสำรองใหม่ อีกทั้งในช่วง 2H63 ยังมีปัจจัยบวกจากการรวมงบของ Permata เข้ามาในงบการเงินรวม (เราจะพิจารณาเพิ่มประมาณการอีกครั้งหลังการลงทุนดังกล่าวผ่านมติประชุมผู้ถือหุ้น) เป็น Upside ต่อประมาณการในปีนี้ อีกทั้งราคาหุ้นปัจจุบันมี Upside 36% จากมูลค่าพื้นฐานใหม่ปี 2563 ที่ 202 บาท รวมถึงคาดมีเงินปันผลจากกำไรช่วง 2H62 อีก หุ้นละ 4.5 บาท คิดเป็น Div. Yield 3.0% จึงคงแนะนำ “ซื้อ””บล.หยวนต้า ระบุ

บล.เอเชีย เวลท์ แนะนำ “ซื้อ” สำหรับ BBL แม้จะมีการปรับลดราคาเป้าหมายลงเล็กน้อย จาก 184 บาท เป็น 183 บาท (อิงค่า PBV เดิมที่ 0.77 เท่า) เนื่องจาก (1) มีโอกาสเติบโตในอนาคต จากการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ผ่านธนาคารใหม่ Permata หนุน ROE ปรับตัวสูงขึ้น และ (2) ราคาหุ้นไม่แพง โดยคิดเป็น PBV ที่ 0.6 เท่า ราคาหุ้นที่ปรับลดลงมาก่อนหน้านี้เป็นจังหวะที่ดีต่อการเข้าทยอยสะสม

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ปรับประมาณการกำไรปี 63F ลง 2% สะท้อนสมมติฐานรายได้ค่าธรรมเนียมลดลง (จาก +3% เป็น 0%), ค่าใช้จ่ายต่อรายได้สูงขึ้น (จาก 45% เป็น 47.5%) และตั้งสำรองน้อยลง ซึ่งหลังปรับใหม่แล้วคาดการณ์กำไรสุทธิปี 63F จะลดลง -1% YoY โดยแนะนำซื้อ แต่ลดราคาพื้นฐานเป็น 195 บาท อิงกับ P/BV ปี 63F ที่ 0.8 เท่า (-2SD) ปัจจัยที่เป็น Catalyst คือ คาดว่าการลงทุนโครงการขนาดใหญ่จะมากขึ้นในครึ่งหลังของปี 2563

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ปรับลดประมาณการกำไรปี 2563-64 ลง 5-10% จากการเติบโตที่ลดลงของสินเชื่อ NIM รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย non-NII และต้นทุนสินเชื่อ เพื่อสะท้อนเป้าหมายทางการเงินใหม่ คงคำแนะนำ ซื้อ และปรับลดราคาเป้าหมายลงเหลือ 190 บาท (P/BV ปี 2563 ที่ 0.8 เท่า ROE 8.7%) จาก 225 บาท BBL ยังคงเป็นหุ้นเด่นของบล.เมย์แบงก์ฯ เนื่องจากงบดุลที่แข็งแกร่งและเงินปันผลดี ขณะที่ Valuation น่าสนใจ P/BV ปี 2563 ที่ 0.6 เท่าและ PE ที่ 7.4 เท่า ความเสี่ยง คือ NIM ที่อ่อนแอกว่าที่คาด

บล.โนมูระ พัฒนสิน แนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมาย 176 บาท ซึ่งปรับลงจาก 202 บาท แต่ยังคง BBL เป็น Top pick คู่กับ TISCO เนื่องจากคาดกำไรสุทธิ 2563 ยังรักษาระดับทรงตัวได้ สวนทางกับกลุ่มที่คาดกำไรสุทธิลดลง -2% จากปีก่อน รวมถึง BBL มีคุณภาพสินทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ดี และตั้งสำรองแข็งแกร่งมาก จึงคาดสามารถรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโตชะลอได้ นอกจากนี้ปัจจุบัน BBL ซื้อขายเพียง 0.63 เท่า ใกล้เคียงกับช่วง Hamburger Crisis ปี 2552

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” BBL แต่ปรับราคาเป้าหมายลงมาอยู่ที่ 175.00 บาท อิง 2563 คาด PBV ที่ 0.74 เท่า (-1.25SD below 5-yr average PBV) จากเดิมที่ 185.00 บาท อิงคาดการณ์ปี 2563 PBV ที่ 0.80 เท่า จากการประชุมนักวิเคราะห์เมื่อวันศุกร์ (7 ก.พ.) จึงมีมุมมองเป็นบวกน้อยลง จากการแถลงเป้าปี 2563 ที่จะเห็นการเติบโตที่ชะลอลงอย่างชัดเจนจากเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะโตได้เพียง +2.3% โดยบริษัทตั้งเป้าการเติบโตของ net fee (-2%-0%) และ NIM (2.2%) และกำไรจากเงินลงทุนจะลดลงเหลือปีละ 2 พันล้านบาท (จากเดิมที่ 5 พันล้านบาท) ซึ่งต่ำกว่าเป้าที่เราคาด ดังนั้นเรามีการปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2020E/2021E ลง -3.9%/-2.8%

บล.ทรีนีตี้ ปรับประมาณการสำหรับผลประกอบการปี 2563 ใหม่ คาด NIM รายได้ค่าธรรมเนียม และกำไรจากเงินลงทุนจะลดลง จากผลกระทบของ TFRS9 แต่สำรองหนี้จะลดลงเช่นกัน เนื่องจากสำรองส่วนเกินอยู่ในระดับสูง โดยคาดกำไรปี 2563 ใหม่ที่ 36,774 ล้านบาท ใกล้เคียงกับประมาณการที่ทำไว้ก่อน ประมาณการดังกล่าวยังไม่รวม Permata Bank เข้ามา ซึ่งมองจะเป็นผลบวก คงราคาเป้าหมาย 173 บาท แนะนำ “ซื้อ”

บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ยังคงแนะนำ “ซื้อลงทุน” BBL ราคาเป้าหมาย 195 บาท ซึ่งในบรรดาธนาคารพาณิย์ขนาดใหญ่ ชอบ BBL มากที่สุด ล่าสุดมองจะได้ประโยชน์จากโครงการลงทุนพื้นฐานขนาดใหญ่แม้จะล่าช้าไปบ้าง และมีฐานรายได้ที่กระจายไปในต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจธนาคารในต่างประเทศค่อนข้างมากต่างจากธพ.อื่น

ขณะที่บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มองว่าในภาวะที่ปัจจัยภายในประเทศเติบโตได้ยาก การหันไปลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง เป็นกลยุทธ์ที่ดีอันหนึ่ง ประกอบกับเราเชื่อในความ conservative ของ BBL ล่าสุดยังมี coverage ratio ถึง 220% สูงที่สุดเมื่อเทียบกับระบบธพ.(145%) อีกทั้งราคาปัจจุบันยังถูกมากเทรดต่ำเพียง 0.66 เท่า ของ BV

บล.เอเซีย พลัส แนะนำ “ซื้อ” BBL ราคาเป้าหมาย 201 บาท อัตราผลตอบแทนเงินปันผล 4.4% และบล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) แนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมาย 190 บาท

บล.กรุงไทย ซีมิโก้ คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 180 บาท และคง BBL เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มฯ แม้จะมีการปรับลดคาดการณ์กำไรลงสะท้อนเป้าหมายทางการเงินปี 2563 โดยยังเห็นว่า BBL ยังคงมีความน่าสนใจจากจุดเด่นในความเป็นหุ้นมั่นคงและปลอดภัย และมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี ทำให้เราเชื่อว่า BBL จะสามารถรับมือกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ดี ขณะที่เรามองว่าการเข้าซื้อกิจการ 100% ในธนาคาร PT Bank Permata Tbk น่าจะสร้างโอกาสทางธุรกิจ และประโยชน์ให้แก่ BBL ในระยะยาว

อย่างไรก็ดี ความท้าทายหลักที่ต้องติดตามได้แก่ความสามารถในการสร้าง synergies และความเสี่ยงช่วงเปลี่ยนผ่านธุรกิจหลังการเข้าซื้อกิจการ
ด้านบล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า ข้อมูลที่ได้จากผู้บริหาร BBL ชี้ว่าราคาหุ้นมี downside มากกว่า upside เนื่องจากมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศเป็นลบมากขึ้น ในขณะที่การเปลี่ยนวิธีบันทึกบัญชีก็ส่งผลให้กำไรลดลง และก็จะไม่มีการจ่ายปันผลพิเศษ หรือซื้อหุ้นคืนด้วย เท่านั้น

“เราได้ปรับลดประมาณการกำไรปี 2563/64 ลง 8%/9% โดยปรับลดสมมติฐาน NIM ลง 10bps ปรับรายได้ค่าธรรมเนียม -2%/+5% (จากเดิมที่ +5%/+5%) ปรับสัดส่วนต้นทุน/รายได้เป็น 48%/47% (จากเดิมที่ 44%/42%) โดยใช้ P/BV ที่ 0.75x และ P/E ที่ 9.5x ทำให้ได้ราคาเป้าหมายใหม่ปี 2563 ที่ 176 บาท (จากเดิมที่ 198 บาท) เรายังคงคำแนะนำถือ อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลจะช่วยจำกัด downside”บล.เคจีไอ ระบุ

อ่านข่าว

ตื่นขายหุ้นกลุ่มแบงก์ร่วงหนัก กังวลธปท.รื้อค่าฟีกระทบรายได้