แน่งน้อยร้อยเรื่องลงทุน : โบรกเกอร์ ค้นพบทางรอด รวมสาขา เพิ่มพันธมิตร ขายสารพัด

ตลาดทุนไทยมีเสน่ห์น้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจ บริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์จำเป็นต้องลดขนาดธุรกิจลง และดิ้นหาหนทางเพื่อเดินต่อไปข้างหน้า คนในวงการนี้ก็ต้องขยับขยายหาโอกาสใหม่ ทั้งพนักงานและนักลงทุน…

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดข้อมูลภาพรวมตลาดทุนปี 2562 พบว่า สาขาของบริษัทหลักทรัพย์ลดลงไป 52 แห่ง เหลือจำนวน 511 สาขา และคนในวงการตลาดทุนมีทั้งหมด 12,510 คน หายไปเกือบ 1,000 คนจากปี 2561 โดยเฉพาะผู้แนะนำการลงทุนในส่วนหลักทรัพย์ ขณะที่มีนักวางแผนการลงทุนเพิ่มขึ้น 101 คน เป็น 779 คน ตามความต้องการของตลาด

และเชื่อว่าในปี 2563 ทั้งสาขาและคนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปมาก มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน ช่วยในการตัดสินใจลงทุน ที่สำคัญการแข่งขันที่ยังคงมีความรุนแรง มีการตัดราคาค่าคอมมิชชันลงแทบจะไม่เหลือกำไร แต่บริษัทจำเป็นต้องสู้ เพื่อรักษาลูกค้ารายใหญ่เอาไว้

ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ บริษัทหลักทรัพย์มีความพยายามแก้ไขมานาน แต่การเพิ่มรายได้ใหม่ ลดการพึ่งพารายได้จากค่าคอมมิชชัน “พูดง่าย แต่ทำยาก” ทำให้บริษัทยังคงขาดทุนหรือมีกำไรขาลง

ยกตัวอย่าง กรณี บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET มีกำไรสุทธิ 254 ล้านบาท ลดลงถึง 35% จากที่ทำได้ 391 ล้านบาทในปี 2561 และทรุดถึง 60% จากกำไรสุทธิ 638 ล้านบาทในปี 2560

“มนตรี ศรไพศาล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารชี้แจงว่า สาเหตุเกิดจากรายได้ค่าหน้าหน้าลดลง 19% เหลือจำนวน 1,421 ล้านบาทในปี 2562  โดยเฉพาะจากการซื้อขายหลักทรัพย์ไหลลง 18% เหลือ 1,282 ล้านบาท เป็นไปตามมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยของตลาดลดลง 8% เป็น 53,192 ล้านบาท/วัน และนักลงทุนบุคคลที่เป็นรายได้หลักหายไป จากสัดส่วน 40.81% เหลือ 33.72%  กดมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยของนักลงทุนบุคคลลงถึง 24% เป็น 17,937 ล้านบาท/วัน

เช่นเดียวกับบล. โนมูระ พัฒนสิน (CNS) มีกำไรสุทธิ 129 ล้านบาท ลดลง 49 ล้านบาท คิดเป็น 27% จากปีก่อน เพราะรายได้รวมลดลง 19% เหลือ 1,283 ล้านบาท ทั้งค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์-สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์(มาร์จิ้น) กำไร-ผลตอบแทนจากเครื่องมือทางการเงิน เช่นธุรกรรม Block Trade-Single Stock Future ลดลง

ที่ผ่านมา รวมถึงในปี 2562 บริษัทแต่ละแห่งมีการปรับตัวด้วยวิธีที่แตกต่างกัน

ส่วนหนึ่งเลือกวิธีการปิดสาขา มีทั้งเลิกจ้างพนักงานทันที กับการโยกย้ายพนักงานไปรวมกับสาขาที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง มีการแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนตามสาขา จาก 1 บวก 1 เท่ากับ 1 และเพิ่มเป็น 2 บวก 1 เท่ากับ 1 สาขา

ค่าใช้จ่ายที่ลดลงอีกส่วนหนึ่งมาจากพนักงานขอลาออกเอง เพราะมองไม่เห็นอนาคต เมื่อไม่มีรายได้ค่าคอมมิชชั่นสูงเหมือนในอดีต  การรับเงินเดือนประจำเพียง 15,000 บาท อยู่ลำบาก สำหรับค่าครองชีพสูงในกรุงเทพฯ

นอกจากนี้บริษัทหลักทรัพย์บางส่วนหันไปหาโอกาสจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม สปป.ลาว แต่จะไปโดยลำพังคงจะสำเร็จยาก มีการเจรจาจับคู่เพื่อเติบโตไปด้วยกัน ดีกว่าต่างคนต่างไปแล้วไม่มีพลัง คาดว่าจะมีการเปิดตัวพันธมิตรในเร็ว ๆนี้

อย่างไรก็ตาม รายได้หลักยังมาจากในประเทศที่คงจะเหนื่อยอีกต่อไป แม้พนักงานมีการปรับตัว เสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศแล้วก็ตาม

ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่จะฝ่าฟันสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้  ขอให้สู้ต่อไป ซึ่งเชื่อมั่นว่าปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งจะทำให้ตลาดทุนไทยกลับมาเป็นที่สนใจของนักลงทุนไทยและต่างประเทศได้อย่างแน่นอน