สถาบันไล่ทิ้ง ‘ไฟฟ้า-แบงก์’ ตุนกำไร BAM ถูกฟิทช์ฯ ลดเกรดตามคาด

HoonSmart.com>> หุ้นไทยเหวี่ยงขึ้น-ลงแรง วันเดียวเฉียด 22 จุด จ่อหลุด 1,500 รอบใหม่ ฝีมือสถาบันทิ้ง 4,112 ล้านบาท เน้นไฟฟ้า แบงก์ยังมีโอกาสไหลลงต่อ ธปท.จ่อลดดอกเบี้ย  บล.ภัทรหั่น GDP ปี 63 โตแค่ 1.4%   BAM เจอฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิตเป็น “BBB+ ตามคาด บล.เอเซียพลัสเตือนบจ.ใหญ่กว่าครึ่งถูกลดเป้ากำไรปี 63 ปตท.มากสุุด 1.16 หมื่นล้าน  ตามด้วย PTT-THAI- PTTGC- IVL -AOT ส่วนCPF เด่น เพิ่มเป้ากำไรกว่า 3,300 ล้านบาทตามด้วย -GULF-FPT-KCE-TTW 

วันที่ 19 ก.พ.2563 ตลาดหุ้นเอเชียมีทั้งบวกและลบหลังจากไวรัสโควิด-19 ลุกลามมากกว่าคาด ในจีนมียอดคนเสียชีวิตถึง 2,000 คน นักลงทุนวิ่งเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัย ราคาทองคำทะลุ 1,600 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ บอนด์ยิลด์สหรัฐมีลักษณะ Invert Yield curve ที่ระยะสั้นดีดตัวขึ้นสูงกว่าระยะยาว ตามความกังวลสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

ส่วนหุ้นไทยอ่อนแรงเกินคาด ดัชนีเปิดบวกพยายามไต่ขึ้นไปสูงถึง 1,523.61 จุด แต่ต้านแรงขายไม่ไหว กดลงไปต่ำสุด 1,501 จุด ก่อนปิดที่ 1,505.54 จุด ติดลบ 8.14 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 68,726 ล้านบาท ตามแรงขายของสถาบันไทย 4,112 ล้านบาท ส่วนต่างชาติพลิกกลับมาซื้อสุทธิ 2,479 ล้านบาท

ผู้จัดการกองทุน กล่าวว่า สถาบันขายหุ้นออกมามาก เพื่อต้องการเก็บกำไรไว้ก่อน เพราะแนวโน้มยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงเลือกขายหุ้นที่ยังมีกำไร เช่น ไฟฟ้า และหุ้นที่มีโอกาสลงต่อในแบงก์ใหญ่ เพราะมีความเป็นไปได้สูงมากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% แม้ว่าเพิ่งปรับลดลงเหลือ 1.00% นับว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แล้วก็ตาม เพราะเศรษฐกิจแย่ลงเร็วมาก ไตรมาส 1 มีโอกาสติดลบ แต่คงไม่ต้องการเห็นติดลบในไตรมาสที่ 2 หากติดลบสองไตรมาสติดต่อกัน ถือเป็นการถดถอยทางเทคนิค ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ข่าวลบ เป้าหมาย GDP ที่สำนักต่างๆปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด บล.ภัทรคาดว่าจะเติบโตเพียง 1.4% นับว่าต่ำที่สุดในรอบนี้ จากวันก่อนหน้าธนาคารไทยพาณิชย์คาดว่าจะโต 1.8% ขณะที่สภาพัฒน์เพิ่งปรับลดลงมาเหลือ 1.5-2.5% มีค่ากลางที่ 2%   ส่วนธปท.ออกมายอมรับว่ามีโอกาสต่ำกว่า 2% รวมถึงสินเชื่อที่ชะลอตัว และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นข่าวร้ายต่อกลุ่มแบงก์

บล. ภัทร ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ในปี 2563 ลงจาก 2.2% เหลือ 1.4% เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้  คาดเศรษฐกิจน่าค่อยๆฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ปี 2564 ขึ้นจาก 3.1% เป็น 3.5% จากฐานที่ต่ำ นอกจากนี้คาดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ภายในกลางปีนี้

ด้านหุ้นบริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ราคาปิดที่ 27.50 บาท ติดลบ 1.50 บาทหรือ 5.17% โดยบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว เป็น ‘BBB+(tha)’ จาก ‘AA-(tha)’ และระยะสั้นเป็น ‘F2(tha)’ จาก ‘F1+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ หลังจาก BAM เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐลดลงอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ 45.8% จากเดิม 99.99% จึงไม่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป ฟิทช์เชื่อว่าไม่สามารถพึ่งพาได้อีกแล้ว ส่วนอันดับเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึง BAM น่าจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานได้อย่างสม่ำเสมอ

บล.เอเซียพลัสออกผลสำรวจ “บจ.แจ้งงบปี 62 แล้วเกือบครึ่ง บริษัทใหญ่ถูกหั่นเป้ากำไรปี 63 ”  จากเศรษฐกิจมีโอกาสชะลอลงเกือบทุกองค์ประกอบ จึงนำไปสู่การปรับลดประมาณการกำไร คาดกำไรต่อหุ้นของตลาดเหลือ 87.09 บาท/หุ้น  จาก 95.71 บาท/หุ้น

ฝ่ายวิจัยฯ รวบรวมข้อมูลล่าสุด พบว่า มีบจ.ที่ถูกปรับประมาณการกำไรปี 2563 ลงแล้ว 8.86 หมื่นล้านบาท หลัก ๆ มาจากกลุ่มปิโตรเคมี ที่ถูกกดดันจากสเปรดที่อยู่ในระดับต่ำ, กลุ่มแบงก์พาณิชย์ ที่ถูกกดดันจากดอกเบี้ยที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เศรษฐกิจที่ชะลอ จึงมีความเสี่ยงที่จะมีการลดดอกเบี้ยอีก กลุ่ม ICT มีต้นทุนจากการประมูลคลื่น 5G ที่เพิ่มขึ้น กลุ่มการบินและท่องเที่ยว ยังมีความเสี่ยงจากโรคระบาด COVID-19 หากยืดเยื้อ เป็นต้น

ในทางกลับกัน มีบจ.ที่ถูกปรับประมาณการกำไรเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 7,080 ล้านบาท หลัก ๆ มาจาก กลุ่มอาหารส่งออก

ฝ่ายวิจัยคาดว่าบริษัทปตท. (PTT) ถูกลดประมาณการกำไรปี 2563 มากถึง 1.16 หมื่นล้านบาท ตามด้วย การบินไทย (THAI) 1.07 หมื่นล้านบาท บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล 8,200 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ปรับเพิ่มขึ้น 3,300 ล้านบาท บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เพิ่มขึ้น 1,600 ล้านบาท และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) หรือ FPT เพิ่มขึ้น 1,300 ล้านบาท